วันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2558

เฟซบุ๊คชี้เบาะแสการใช้งานซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายแก่บก.ปอศ. สู่การจับกุม 4 โรงงานใหญ่

ข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้จากเฟซบุ๊ค ทำให้เจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) มีเบาะแสและสืบสวนไปถึง 4 บริษัทผู้ผลิตที่ใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฏหมายในการดำเนินธุรกิจ  หนึ่งในนั้นคือบริษัทที่มีสินทรัพย์จดทะเบียนมากกว่า 2.3 พันล้านบาท
20150529_Photo
เฟซบุ๊ค สื่อสังคมออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศไทย โดยมีผู้ใช้มากถึง 30 ล้านคน ได้กลายเป็นช่องทางที่ดีมากช่องทางหนึ่ง ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้เก็บข้อมูลเบาะแสเกี่ยวกับองค์กรธุรกิจที่ใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย
“การใช้สื่อดิจิทัลในการเก็บข้อมูลขององค์กรธุรกิจที่ใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายประสบความสำเร็จมากในช่วงที่ผ่านมา ผู้คนในสังคมแสดงความกังวลเกี่ยวกับการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย และผลกระทบต่อชื่อเสียงของประเทศ ดังนั้นจึงมีผู้หวังดีแจ้งข้อมูลเบาะแสมายังเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ตำรวจขอขอบคุณอีกครั้งต่อผู้ให้ข้อมูลเบาะแสแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ด้วยความร่วมมือจากผู้คนในสังคม เรามั่นใจว่าปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในปัจจุบันจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด” พ.ต.อ.สรรักษ์ จูสนิท รองผบก.ปอศ. รักษาราชการแทน ผบก.ปอศ.
เมื่อเร็วๆ นี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นโรงงานผู้ผลิตรายใหญ่ 4 แห่ง ในสมุทรปราการ ปทุมธานี และระยอง พบซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิติดตั้งอยู่บนเครื่องคอมพิวเตอร์ 360 เครื่อง
ที่แรกคือโรงงานหล่อและขึ้นรูปชิ้นส่วนโลหะ พบว่าใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฏหมายมูลค่าราว 18 ล้านบาทบนเครื่องคอมพิวเตอร์ 38 เครื่อง  โรงงานแห่งนี้มีรายได้รวมมากกว่า 100 ล้านต่อปี
อีกแห่งหนึ่งที่ถูกพบว่าใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย คือ โรงงานผลิตเครื่องเขียนชื่อดังที่มีรายได้รวมมากกว่า 400 ล้านบาทต่อปี  พบว่ามีการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายมูลค่าราว 2.1 ล้านบาท บนเครื่องคอมพิวเตอร์ 47 เครื่อง
โรงงานที่สาม คือ โรงงานแปรรูปไม้  เจ้าหน้าที่ตำรวจพบการใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิบนเครื่องคอมพิวเตอร์ 76 เครื่อง มูลค่าความเสียหายราว 3.7 ล้านบาท  โรงงานแห่งนี้มีสินทรัพย์จดทะเบียนมากกว่า 2.3 พันล้านบาท และมีรายได้รวมมากกว่า 450 ล้านบาท
คดีล่าสุด คือ โรงงานผลิตรองเท้ายี่ห้อดัง มีสินทรัพย์จดทะเบียนมากกว่า 2.3 พันล้านบาท มีรายได้รวมมากกว่า 3 พันล้านบาทต่อปี พบการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายมูลค่าราว 9.6 ล้านบาทบนเครื่องคอมพิวเตอร์ 199 เครื่อง  ถือเป็นคดีที่ใหญ่ที่สุดของปีนี้
“การที่องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ดังกล่าว ใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ และยังส่งผลกระทบอย่างมากต่อชื่อเสียงของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศไทยยังคงอยู่ในรายชื่อประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (Priority Watch List) โดยสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา ติดต่อกันเป็นปีที่ 8  ดังนั้น  เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเร่งดำเนินการเข้าตรวจค้นการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย เพื่อคุ้มครองทรัพยสินทางปัญญา” พ.ต.อ.สรรักษ์ กล่าว “ข้อมูลเบาะแสที่เราได้รวบรวมไว้ตั้งแต่ต้นปี พบว่าโรงงานในภาคการผลิตส่วนใหญ่จำนวนมากละเมิดกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา  ถึงตอนนี้ องค์กรธุรกิจควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง และต้องทำให้แน่ใจว่าใช้ซอฟต์แวร์ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิอย่างถูกต้องตามกฎหมาย  เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องการขอความร่วมมือจากเจ้าของธุรกิจ”
ผู้ที่แจ้งเบาะแสการใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ หรือการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ในองค์กรธุรกิจ มีสิทธิ์ได้รับเงินรางวัลสูงสุด 250,000 บาท โดยสามารถแจ้งผ่านสายด่วนที่ 02-714-1010 หรือรายงานผ่านช่องทางออนไลน์  ทั้งนี้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้แจ้งเบาะแสจะถูกปิดไว้เป็นความลับ  ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดตามได้ที่ www.stop.in.th

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น