วันพุธที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

Google VS Bing เบื้องลึกสงครามเสิร์ชเอนจิน


ได้แต่โต้ตอบกันไปมาระยะหนึ่งแล้ว สำหรับบิง (Bing) เว็บไซต์บริการค้นหาข้อมูลออนไลน์หรือเสิร์ชเอนจินของไมโครซอฟท์ และกูเกิล (Google) ยักษ์ใหญ่โลกออนไลน์ที่ทุกคนรู้จักกันดี งานนี้กูเกิลกล่าวหาว่าบิงนั้นขี้โกงเพราะ"คัดลอก"ผลลัพธ์การสืบค้นของกูเกิลไป ท่ามกลางคำปฏิเสธเสียงแข็งของบิงที่ประกาศสู่สาธารณชนอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่น่าสนใจสำหรับเรื่องนี้ไม่ได้อยู่เฉพาะที่บิงลอกหรือไม่ลอก แต่อยู่ที่เหตุผลที่แท้จริง ซึ่งเป็นเบื้องลึกที่ทำให้กูเกิลต้องออกมาเต้นเพื่อขอความเป็นธรรมให้ตัวเอง
       
       สื่อมวลชนอเมริกันวิเคราะห์ว่า เพราะปีที่ผ่านมา บิงสามารถสร้างปรากฏการณ์ใหม่ในโลกเสิร์ชเอนจินได้อย่างน่าทึ่ง จนทำให้บิงสามารถจรัสแสงในฐานะคู่แข่งที่สมตัวของกูเกิล โดยยกให้บิงเป็นภัยคุกคามเดียวที่กูเกิลมีในอุตสาหกรรมเสิร์ชเอนจิน
       
       สิ่งที่ทำให้บิงมีวันนี้คือผลลัพธ์การค้นหาที่ผู้ใช้มองว่าทำได้ดีพอจะเป็นตัวเลือกหากคิดจะนอกใจกูเกิล แถมเมื่อหันไปมอง"คู่เคยแข่ง"อย่างยาฮู (Yahoo!) ก็ละทิ้งการพัฒนาเทคโนโลยีเสิร์ชเอนจินของตัวเองไปแล้วในวันนี้ ขณะที่ AlltheWeb, Inktomi และ AltaVista หรือเสิร์ชเอนจินรายอื่นๆล้วนยังไม่มีน้ำหนักพอที่จะประมือกับกูเกิล ฉะนั้นผู้เล่นเดียวที่กลายเป็นคู่แข่งหลักของกูเกิลในขณะนี้ก็คือไมโครซอฟท์ และเสิร์ชเอนจินของตัวเองนามว่าบิง
       
       การหยิบผลการสืบค้นของบิงมาทดสอบ จนทำให้กูเกิลกล่าวหาว่าบิงคัดลอกผลการค้นหา ยิ่งเป็นสิ่งสะท้อนว่ากูเกิลมองบิงเป็นคู่แข่งตัวจริง เพราะเห็นได้ชัดว่ากูเกิลมีข้อสังเกตว่าการค้นหาของบิงมีคุณภาพสูง (จนน่าสงสัย) จนได้ออกมาป่าวประกาศอย่างแข็งกร้าวเพื่อประณามบิง ก่อนที่ผู้บริโภคจะหมดความประทับใจด้วยความรู้สึก"ดีใจจัง เสิร์ชแล้วเจอเลย"ในเว็บไซต์กูเกิล ซึ่งจะทำให้บิงสามารถดึงลูกค้ากูเกิลไปได้มากขึ้นในอนาคต
       
       ความรู้สึก "ดีใจจัง เสิร์ชแล้วเจอเลย" นั้นเป็นเรื่องสำคัญมากในวงการเสิร์ชเอนจิน เพราะนี่คือวิธีที่กูเกิลสามารถเอาชนะผู้เล่นในตลาดเสิร์ชเอนจินรายอื่นมาแล้วอย่างอยู่หมัด จุดนี้ทำให้สื่ออเมริกันวิเคราะห์ว่า การประณามบิงของกูเกิลมีแนวโน้มเป็น "สงครามPR" หรือสงครามข้อมูลเพื่อบอกให้สาธารณชนรู้ว่า เหตุผลที่ผลการค้นหาของบิงดูดีถูกใจผู้บริโภคนั้น ส่วนหนึ่งเป็นการขโมยเทคโนโลยีมาจากกูเกิล ซึ่งบิงก็ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาไม่ว่ากูเกิลจะบีบคั้นอย่างไร
       
       การบีบคั้นบิงของกูเกิลนั้นเริ่มต้นขึ้นเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทีมงานกูเกิลประเดิมกล่าวหาบิงว่าขโมยผลการค้นหาไว้บนเว็บล็อกของบริษัท ไม่นาน ทีมไมโครซอฟท์จึงชี้แจงตอบโต้กูเกิลว่าไม่ได้ขโมยหรือลอกเลียนแบบ แต่มีการนำข้อมูลจากผู้ใช้มาปรับปรุงระบบ ทำให้ผลการค้นหามีความคล้ายคลึงกับที่กูเกิลทำได้
       
       เมื่อไมโครซอฟท์กล่าวหากลับบ้างว่า "กูเกิลขี้โกง" เพื่อหวังทำให้บิงเสื่อมเสีย แมตต์ คัตต์ส (Matt Cutts) วิศวกรซอฟต์แวร์ฝ่ายป้องกันการแสดงผลการค้นหาที่ไม่ต้องการ (spam) ของกูเกิล จึงชี้แจงลงบล็อกส่วนตัวโดยดึงภาพผลการค้นหาที่เหมือนกันมาวางเทียบ ซึ่งคนธรรมดาทั่วไปก็สามารถตัดสินได้ไม่ยากเย็น
       
       การ "แฉ" ของกูเกิลเกิดขึ้นหลังจากทีมงานกูเกิลนำระบบการค้นหาของบิงมาทดสอบ โดยการสร้างหลุมพรางหรือ Honeypot ด้วยการพิมพ์ค้นหาข้อความที่ไม่มีความหมาย และไม่เคยมีอยู่ในผลการค้นหาใดๆทั้งในหน้าของกูเกิลและบิง ตัวอย่างเช่น mksofpodfk, sfdjopfdsfe หรือ indoswiftjobinproduction และอื่นๆ มากกว่า 100 คิวรี่ เมื่อพนักงานกูเกิล 20 คนเสิร์ชคำเหล่านี้ตลอด 2 สัปดาห์บนเว็บไซต์กูเกิลผ่านเบราว์เซอร์ไออี 8 (Internet Explorer 8) โดยเปิดคุณสมบัติการทำงานแบบ default ที่ไมโครซอฟท์จัดมาให้อัตโนมัติ (ไม่มีการตั้งค่าใหม่ใดๆ) ปรากฏว่าผลการค้นหา 7-9 ใน 100 ลำดับแรกของกูเกิล ถูกไปแสดงผลบนเพจของบิงไม่มีผิดเพี้ยน
       
       กูเกิลตั้งข้อสังเกตว่า เบราว์เซอร์ไออี 8 ที่ใช้ในการทดสอบนั้นมีการเปิดใช้งานฟังก์ชัน Suggested Sites และ Bing Toolbar ไปพร้อมกัน ทำให้เห็นชัดเจนว่า ไมโครซอฟท์ใช้ Bing Toolbar และฟีเจอร์ Suggest Sites เป็นเครื่องมือในการเก็บประวัติการคลิกของผู้ใช้ เพื่อนำข้อมูลไปพัฒนาผลการค้นหา โดยไม่เว้นแม้แต่ผลการสืบค้นของกูเกิล ทำให้ผลลัพท์กูเกิลและบิงมีความคล้ายคลึงกันในที่สุด
       
       เรื่องนี้ ทีมพัฒนาบิงออกมาเขียนบล็อกตอบโต้ว่าบิงนั้นใช้เงื่อนไขมากกว่า 1,000 จุดในการแสดงผลการค้นหา และหนึ่งในเงื่อนไขก็คือข้อมูลประวัติการค้นหาของผู้ใช้ที่ยินดีส่งให้ไมโครซอฟท์ (opt-in) ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อปรับปรุงผลการค้นหาให้ดีขึ้น การที่บิงมีผลการค้นหาเหมือนกูเกิลจึงเป็นเพราะเหตุนี้ แถมยังย้ำว่าไมโครซอฟท์ไม่มีความผิดเพราะไม่ได้ปิดบังใคร เนื่องจากได้ประกาศนโยบายนี้มาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2009
       
       กูเกิลฟังแล้วเลือดขึ้นหน้า ตอบโต้ว่าหากบิงใช้เงื่อนไขมากกว่า 1,000 จุดในการแสดงผลการค้นหา เหตุใดจึงไม่หยุดการเก็บข้อมูลประวัติการค้นหาของผู้ใช้กูเกิล ซึ่งเป็นเพียง 1 เงื่อนไขที่ช่วยในการปรับปรุงผลการค้นหาเท่านั้น โดยประณามคุณสมบัติ Suggested Sites ซึ่งจะถูกเปิดโดยอัตโนมัติ (default options) ใน Bing Toolbar บนไออีเวอร์ชัน 8 ว่าไมโครซอฟท์ไม่ได้ประกาศต่อผู้ใช้ให้ชัดเจนว่า จะนำข้อมูลการคลิกของผู้ใช้ไปวิเคราะห์ต่อ ถือเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค
       
       ไมโครซอฟท์ได้แต่ยืนยันว่าตัวเองทำถูกแล้ว โดยโจมตีกูเกิลที่สร้างหลุมพรางล่อให้บิงนำผลการค้นหาปลอมไปวิเคราะห์ต่อด้วยว่า เป็นพฤติกรรมเลวร้ายแบบเดียวกับที่สแปมเมอร์ทำเพื่อลวงให้ผู้ใช้คลิกเว็บไซต์ปลอม (click fraud)
       
       ประเด็นที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือความก้ำกึ่งไม่ชัดเจนว่านี่คือการคัดลอกผลการสืบค้นที่แท้จริงหรือไม่ เพราะข้อมูลการคลิกของผู้บริโภคนั้นไม่ได้เป็นสมบัติของกูเกิล การใช้ข้อมูลเหล่านี้เพื่อนำไปคำนวณในระบบอัลกอริธึมของบิงจึงไม่ใช่เรื่องผิด แต่ขณะเดียวกันหลายฝ่ายก็มองเห็นว่า การที่กูเกิลออกมาเรียกร้องก็เป็นเรื่องที่มีเหตุผล และกูเกิลย่อมไม่ได้รับความเป็นธรรมหากบิงจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขใดๆ
       
       ฉะนั้น ในนาทีที่กูเกิลเหนี่ยวไกไปแล้ว และบิงเองก็ยังไม่มีทีท่ารับผิด สิ่งเดียวที่ผู้บริโภคอย่างเราจะทำได้ก็คือ การถามตัวเองว่านิยามคำว่า"ลอก"นั้นคืออะไร และกรณีนี้เป็นการลอกของแท้หรือของเทียม ส่วนการลุ้นว่ามหากาพย์เรื่องนี้จะลงเอยอย่างไรนั้น หลายสำนักฟันธงว่าจะต้องใช้เวลาอีกนาน



ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น